เนื้อหาประชาสัมพันธ์ : โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
วันที่ประกาศ : 18/03/2563
ผู้ประกาศ : งานสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม
รายละเอียด

โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 คือ

  • โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มโคโรนา สายพันธุ์ว่า 2019nCoV 
  • อยู่ในตระกูลเดียวกันกับไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคซาร์ส (SARS) หรือโรคเมอร์ส (MERS)
  • ชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
    • คำว่า CO ย่อมาจาก Corona
    • คำว่า VI ย่อมาจาก Virus
    • คำว่า D ย่อมาจาก Disease
    • ตัวเลข 19 มาจากปีที่ไวรัสตัวนี้เริ่มระบาดครั้งแรก

อาการสำคัญ

  • ทำให้มีไข้ และอาการระบบทางเดินหายใจ โดยส่วนใหญ่จะมีอาการ ไข้ ไอ เจ็บคอ หายใจหอบเหนื่อย และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
  • ระยะฟักตัวของเชื้ออยู่ในช่วง 1-14 วัน ในระหว่างที่ฟักตัวนั้น สามารถติดต่อถ่ายทอดไปยังบุคคลอื่นได้

การแพร่เชื้อ

  • เชื้อสามารถติดต่อจากคนสู่คน ผ่านทางการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย และแพร่กระจายผ่านละอองเสมหะทางการไอ จามของผู้ที่มีเชื้อ
  • ด้านนักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบตั้งข้อสันนิษฐานว่า เชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้มาจากไวรัสในค้างคาวที่กลายพันธุ์ โดยมีงูเป็นตัวกักเก็บและแพร่เชื้อ
  • จุดกำเนิดจากเมืองอู๋ฮั่น มณฑลหูเป่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน                                         

ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงอับดับต้น ๆ 

  • ผู้ที่มีประวัติการเดินทางกลับจากเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน ภายในระยะเวลา 14 วัน
  • เขตติดโรคอันตรายและพื้นที่ที่มีการระบาดต่อเนื่อง
  • ผู้ที่มีประวัติการเดินทางกลับมาจากเมืองที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส

ภายใน 14 วัน หลังเดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่ที่มีการระบาด

  • ถ้ามีอาการไข้ ร่วมกับอาการ ทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ
  • ให้สวมหน้ากากอนามัย แล้วล้างมือ และรีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที พร้อมทั้งแจ้งประวัติการเดินทาง เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนปอดบวม และมีอาการรุนแรง ถึงขั้นเสียชีวิตได้
  • หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
 

เขตติดโรคติดต่ออันตราย
กรณี COVID-19

(มีผลบังคับใช้ 6 มีนาคม 2563)

 พื้นที่ที่มีการระบาดต่อเนื่อง
(วันที่ 13 มีนาคม 2563 เวลา 9.00 น.)
  • สาธารณรัฐประชาชนจีน
    (รวมฮ่องกง และ มาเก๊า)
  • เกาหลีใต้
  • อิตาลี
  • อิหร่าน
 
  • ฝรั่งเศส
  • สเปน
  • สหรัฐอเมริกา
  • สวิสเซอร์แลนด์
  • นอร์เวย์
  • ญี่ปุ่น (บางเมือง)
  • เดนมาร์ก
  • เนเธอแลนด์
  • สวีเดน
  • อังกฤษ
  • เยอรมนี

ดูแลร่างกายดังต่อไปนี้

  • รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ
  • ออกกำลังกาย ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ กินอาหารปรุงสุก พักผ่อนให้เพียงพอ
  • หมั่นล้างมือ สวมใส่หน้ากากอนามัย ลดเสี่ยงสัมผัส แพร่กระจายโรค

วิธีการใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง

  • ให้เอาด้านสีเข้มออกด้านนอกเสมอ คลุมให้ปิดจมูก ปาก คาง คล้องหูขยับให้พอดีกับใบหน้า กดลวดขอบบนให้สนิทกับสันจมูก
  • ควรเปลี่ยนทุกวันและทิ้งลงในภาชนะที่มีฝาปิด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ทั้งจากตนเองและผู้อื่น

วิธีล้างมือให้สะอาด

  • ล้างมือด้วยสบู่ก้อนหรือสบู่เหลว ใช้เวลาในการฟอกมือนานประมาณ 15 วินาที
  • ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล (Alcohol gel) ประมาณ 10 มิลลิลิตร ใช้เวลาประมาณ 15-25 วินาที ไม่ต้องล้างมือซ้ำด้วยน้ำและไม่ต้องเช็ดด้วยผ้าเช็ดมือ

หลีกเลี่ยงสถานการณ์ดังต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงการเดินทางไปประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ หรือประเทศที่พบการระบาดของโรค
  • การอยู่ในสถานที่แออัด
  • หลีกเลี่ยงการไปตลาดค้าสัตว์มีชีวิต
  • หลีกเลี่ยงการกินสัตว์แปลก ๆ
  • ไม่สัมผัสสัตว์ที่ป่วยหรือตาย
  • ไม่ใกล้ชิดผู้ป่วยที่มีอาการไอ (หากเลี่ยงไม่ได้ควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกัน)
  • ไม่นำมือไปสัมผัสตา จมูก ปากหากไม่จำเป็น          

สปสช.แจ้งประชาชนสิทธิบัตรทอง 30 บาท หากมีอาการเข้าข่ายสงสัยป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือโรคโควิด-19 ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข สามารถเข้ารักษา รพ.ตามสิทธิ ไม่เสียค่าใช้จ่าย

ผู้ที่เข้าเกณฑ์การเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ต้องมีอาการดังนี้

  1. ผู้ป่วยที่มีประวัติไข้ หรือวัดอุณหภูมิได้ตั้งแต่ 37 องศาเซลเซียสขึ้นไป ร่วมกับอาการระบบทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง (ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเร็ว หรือหายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบาก) และมีประวัติในช่วง 14 วัน ก่อนวันเริ่มมีอาการ
    • มีการเดินทางไปหรือมาจากประเทศ หรือ อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการรายงานการระบาดต่อเนื่องของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ
    •  เป็นผู้ประกอบอาชีพที่สัมผัสใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวที่มาจากพื้นที่ที่มีรายงานการระบาดต่อเนื่องของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ
    • มีประวัติใกล้ชิดหรือสัมผัสกับผู้ป่วยที่ยืนยันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
  2. ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบที่หาสาเหตุไม่ได้ และมีประวัติใกล้ชิดกับผู้ที่สงสัยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
  3. ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบที่หาสาเหตุไม่ได้ และเป็นบุคลากรทางการแพทย์
  4. ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบเฉียบพลันชนิดรุนแรงที่หาสาเหตุไม่ได้

หากมีอาการเข้าข่ายสงสัยป่วยโรคโควิด-19

  • โทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
  • รีบไปตรวจที่โรงพยาบาลตามสิทธิของท่าน

หากมีอาการเข้าข่ายแต่อยู่ต่างพื้นที่ รพ.ที่มีสิทธิ เช่น ไปต่างจังหวัด

  • ให้ไปที่โรงพยาบาลของรัฐ โดยต้องสวมหน้ากากอนามัย แจ้งประวัติ ไม่ปกปิดข้อมูลใด ๆ
  • เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นผู้เสี่ยงติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 จะถูกส่งตัวรักษาตามกระบวนการของกระทรวงสาธารณสุข โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

หากอาการไม่เข้าข่ายตามหลักเกณฑ์ แต่สงสัยเองว่าจะป่วยเป็นโรคโควิด-19

  • ต้องการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เอง โดยที่แพทย์ไม่ได้วินิจฉัยให้ ต้องจ่ายเงินเอง
  • ทั้งนี้ขอย้ำว่า ในกรณีนี้ไม่แนะนำให้ไปโรงพยาบาลเพื่อขอตรวจเอง แม้จะจ่ายเงินเอง แต่การไปโรงพยาบาลโดยไม่มีความจำเป็น จะเป็นการเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการได้รับเชื้อจากโรงพยาบาล และเพิ่มภาระให้บุคลากรสาธารณสุขโดยไม่จำเป็น

☎️ สอบถามข้อมูลเรื่องสิทธิ การใช้สิทธิบัตรทอง โทร สายด่วนสปสช .1330

กรณีเพิ่งเดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง แล้วมีอาการป่วย

  • มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ เจ็บหน้าอก
  • ให้สวมหน้ากากอนามัยแล้วรีบไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลตามสิทธิประกันสังคมที่เลือกไว้ได้เลย
  • แพทย์จะส่งตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาฟรี
  • ในกรณีที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาขึ้นมาจริง ๆ ก็จะได้รับการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

หากมีอาการป่วยแต่ไม่สามารถไปโรงพยาบาลตามสิทธิ์ได้ เช่น ตอนนี้อยู่ต่างจังหวัด อยู่ต่างพื้นที่

  • เข้ารักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ หรือโรงพยาบาลรัฐทุกแห่งตามระบบประกันสังคมได้ก่อนเลย โดยจะเบิกจ่ายเป็นกรณีฉุกเฉิน 72 ชั่วโมง
  • หากเราต้องสงสัยว่าติดเชื้อและต้องถูกกักกัน ให้แจ้งโรงพยาบาลตามสิทธิ์เพื่อรับผิดชอบค่าใช้จ่าย

หากตรวจพบว่าป่วยโควิด-19 และแพทย์มีคำสั่งให้หยุดพักรักษาตัวจะได้ค่าชดเชยเท่าไร ?

  • ค่าจ้างจากนายจ้าง
    • กรณีเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 สามารถใช้สิทธิ์ลาป่วยโดยได้รับค่าจ้างจากนายจ้างไม่เกิน 30 วัน/ปี
  • เงินทดแทนการขาดรายได้จากประกันสังคม 
    • กรณีเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ประกันสังคมจะจ่ายเงินทดแทนฯ ให้ในอัตรา 50% ของค่าจ้าง (คิดจากฐานอัตราเงินเดือนสูงสุดของผู้ประกันตนแต่ละมาตรา) โดยได้รับครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน ยกเว้นเป็นโรคเรื้อรัง จะได้รับเงินทดแทนฯ ไม่เกิน 365 วัน 

กรณีที่ไม่ได้เดินทางออกนอกประเทศ หรือไม่ได้ไปประเทศกลุ่มเสี่ยง

แต่ต้องการตรวจหาเชื้อเพื่อความมั่นใจ โดยที่หมอไม่ได้เป็นผู้วินิจฉัยให้ จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจเอง

 

    



ประกาศให้ COVID-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ลำดับที่ 14                                                                                                                    ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2563

  • เพิ่มโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019 : COVID-19) เป็นโรคติดต่ออันตรายภายใต้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ลำดับที่ 14 เพื่อให้สามารถใช้ข้อกำหนดตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค สามารถควบคุมโรคได้มีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ และสังคม
  • ทำให้สามารถค้นหาผู้ป่วย สอบสวน และควบคุมโรคได้เร็ว โดยเจ้าบ้าน/ ผู้ควบคุมดูแลบ้าน/แพทย์ผู้ทำการรักษาที่บ้าน ผู้รับผิดชอบในสถานพยาบาล/ ผู้ทำการชันสูตร/ ผู้รับผิดชอบสถานที่ชันสูตร และเจ้าของ/ผู้ควบคุมสถานประกอบการหรือสถานที่อื่นใด ต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ภายใน 3 ชั่วโมง
  • เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อจะมีอำนาจในการดำเนินการหรือออกคำสั่ง เช่น ให้ผู้ที่เป็นหรือมีเหตุสงสัยว่าเป็นโรคมารับการตรวจชันสูตร แยกกัก กักกัน คุมไว้สังเกต
  • กรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน ผู้ว่าราชการจังหวัด/กทม. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. มีอำนาจสั่งปิดตลาด สถานที่ประกอบการ โรงงาน สถานที่ชุมนุมชน โรงมหรสพ สถานศึกษา หรือสถานที่อื่นใดเป็นการชั่วคราว และสั่งให้ผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรหยุดประกอบอาชีพเป็นการชั่วคราว

      

ที่มา






[ ปิดหน้าต่างนี้ ]