เนื้อหาประชาสัมพันธ์ : ประชาสัมพันธ์การดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคขาดสารไอโอดีนอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
วันที่ประกาศ : 25/02/2563
ผู้ประกาศ : งานสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม
รายละเอียด

ภาวะขาดสารไอโอดีนเป็นภาวะทุพโภชนาการที่เกิดขึ้นกับประชากรทั่วโลก และเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของภาวะปัญญาอ่อนและความเสียหายต่อสมอง การได้รับสารไอโอดีนไม่พอของหญิงตั้งครรภ์จะส่งผลให้เกิดความด้อยของสมองในทารกและเด็ก รวมทั้งสภาพร่างกายแคระแกร็น และมีความเสี่ยงต่อการแท้งบุตรสูง ส่วนเด็กที่ไม่ได้รับสารไอโอดีนเพียงพอ จะมีสมองและร่างกายที่เติบโตช้ากว่าปกติ ซึ่งอาจส่งผลให้ทำให้หยุดการเจริญเติบโต และมีส่วนทำให้ไอคิวของเด็กต่ำลง

จะเห็นว่าการส่งเสริมการใช้เกลือเสริมไอโอดีน ต้องทำทั้งในส่วนของผู้บริโภค และผู้ผลิตและผู้จำหน่าย เป้าหมายจะไม่ประสบความสำเร็จได้หากเน้นกิจกรรมส่วนใดส่วนหนึ่งเพียงอย่างเดียว  หากประชาชนในชุมชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคขาดสารไอโอดีน แต่ไม่สามารถหาซื้อเกลือเสริมไอโอดีนที่มีคุณภาพได้ ความรู้นั้นก็ไม่สามารถแปลงเป็นการปฏิบัติได้ ในขณะเดียวกัน หากร้านค้านำเกลือเสริมไอโอดีนมาขาย แต่ประชาชนไม่ทราบว่าเกลือชนิดนี้มีประโยชน์อย่างไร ทำไมต้องกิน ทุกวัน ก็จะไม่ซื้อมาใช้

 

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทในการช่วยขจัดโรคขาดสารไอโอดีนได้อย่างไร

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถมีบทบาทในการช่วยสนับสนุนให้คนในท้องถิ่นได้รับสารไอโอดีนเพียงพอถ้วนหน้าได้ ในการวางแผนโครงการระดับท้องถิ่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการบริโภคเกลือเสริมไอโอดีน ควรพิจารณาให้มีกิจกรรมทั้ง 4 รูปแบบนี้ควบคู่กัน เพื่อให้เกิดผลสำเร็จมากที่สุด

 

กิจกรรมที่ 1. กิจกรรมเพื่อผลักดันเชิงนโยบายของท้องถิ่น

กิจกรรมเหล่านี้เน้นในการสร้างความตระหนักและความเข้าใจแก่ผู้บริหารหน่วยงานต่างๆและผู้นำชุมชน ช่วยสะท้อนปัญหาและวิธีแก้ไขปัญหา เพื่อผลักดันให้เกิดนโยบายของชุมชนที่ยั่งยืนในการป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน และให้เกิดการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดแผนการดำเนินงานร่วมกัน

 

กิจกรรมที่ 2 กิจกรรมเพื่อควบคุมคุณภาพเกลือที่แหล่งผลิตและจุดจำหน่าย

ในการป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน วิธีที่จะสามารถช่วยให้ทุกคนในชุมชนได้รับสารไอโอดีนอย่างเพียงพอ คือการควบคุมคุณภาพของเกลือเสริมไอโอดีนที่มีจำหน่ายในชุมชนให้มีสารไอโอดีนในระดับที่ได้มาตรฐาน และไม่มีเกลืออื่นจำหน่ายเลย ถ้าร้านค้ามีความรู้ความเข้าใจกับประโยชน์ของไอโอดีนก็จะสามารถให้คำแนะนำแก่ชุมชนได้ด้วย  

หากในท้องถิ่นมีแหล่งผลิตเกลือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อช่วยเหลือผู้ผลิตในพื้นที่ ให้สามารถผลิตเกลือที่มีมาตรฐานได้ และอาจจะต้องมีมาตรการลงโทษถ้าผลิตเกลือที่ไม่ได้คุณภาพ

นอกจากนี้ ควรชี้ให้ผู้ประกอบการเห็นถึงความสำคัญของการผลิตหรือจำหน่ายเกลือเสริมไอโอดีนที่มีคุณภาพ เพื่อให้รู้สึกภาคภูมิใจในบทบาทของตนต่อการพัฒนาสุขภาพกายและสมองของเด็กไทย

 

กิจกรรมที่ 3 กิจกรรมเฝ้าระวังโรคขาดสารไอโอดีนในท้องถิ่น

          การตรวจสอบคุณภาพเกลือในชุมชนด้วยชุดตรวจหาสารไอโอดีนในเกลือ (ไอคิท) มีจะช่วยให้มีข้อมูล ในการทำโครงการ สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น ระบุกลุ่มเป้าหมายที่ยังไมได้ใช้เกลือเสริมไอโอดีนและช่วยให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการทำกิจกรรม และยังเป็นเครื่องมือในการสื่อสารได้เป็นอย่างดี

 

กิจกรรมที่ 4 ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคขาดสารไอโอดีนและการป้องกัน

การสื่อสารแก่กลุ่มเป้าหมายในชุมชนในเรื่องโรคขาดสารไอโอดีนจำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่อง ผ่านสื่อหลายๆช่องทาง เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ขนาดเล็ก สื่อกระจายเสียง และสื่อบุคคลจะช่วยให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุด และช่วยให้กลุ่มเป้าหมายเกิดความเข้าใจและมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมมากที่สุด

          อุปสรรคใหญ่ที่พบบ่อยในโครงการส่งเสริมการใช้เกลือเสริมไอโอดีน คือ ชาวบ้านมีความเห็นว่า เกลือเสริมไอโอดีนไม่อร่อย หรือนำมาใช้หมักดองไม่ได้ ดังนั้น จะต้องใช้กิจกรรมและการสื่อสารมาช่วยลดอุปสรรคเหล่านี้ เช่น จัดให้มีการสาธิตหรือประกวดทำอาหารที่ใช้เกลือเสริมไอโอดีน เพื่อแสดงให้เห็นว่าเกลือเสริมไอโอดีนไม่ได้ทำให้รสชาติของอาหารนั้นด้อยลง ถ้าไม่มีการสื่อสารหรือกิจกรรมที่เจาะจงไปที่ทัศนคติและความเชื่อเหล่านี้ กลุ่มเป้าหมายก็จะยังไม่เชื่อสนิทใจและไม่ปฏิบัติพฤติกรรมตามที่ได้รับคำแนะนำ






[ ปิดหน้าต่างนี้ ]