เนื้อหาประชาสัมพันธ์ : คลอดก่อนกำหนด ป้องกันได้อย่างไร?
วันที่ประกาศ : 06/08/2567
ผู้ประกาศ : งานสาธารณสุขฯ
รายละเอียด

การดูแลตนเองของคุณแม่ตั้งครรภ์ควรใส่ใจทั้งในด้านอาหาร สุขอนามัย และการตรวจร่างกายโดยแพทย์ เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจส่งผลต่อทารกในครรภ์และบำรุงร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอเพื่อให้คุณแม่สามารถคลอดบุตรได้ตามระยะเวลาที่กำหนด

1. การฝากครรภ์

เมื่อคุณแม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์แล้ว ภายใน 3 เดือนแรกควรรีบมาฝากครรภ์เพื่อตรวจอัลตราซาวด์และยืนยันอายุครรภ์ รวมถึงตรวจเลือดและโรคประจำตัวเพื่อหาความเสี่ยงที่อาจกระทบต่อการตั้งครรภ์ หากเคยมีประวัติการแท้งบุตรหรือคลอดก่อนกำหนดควรแจ้งให้แพทย์ทราบ

2. ตรวจปากมดลูก

เมื่อมีอายุครรภ์ได้ 18-22 สัปดาห์ ควรทำอัลตราซาวด์เพื่อตรวจว่ามีปากมดลูกสั้นหรือไม่ หากพบว่ามีปากมดลูกสั้น แพทย์จะป้องกันด้วยการให้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่สามารถป้องกันการคลอดก่อนกำหนดได้ถึง 45% หรืออาจจำเป็นต้องเย็บปากมดลูกหรือใช้ห่วงซิลิโคน (Pessary) รัดปากมดลูกเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด

3. รับประทานอาหารที่มี DHA

เนื่องจาก DHA คือ สารอาหารที่มีความสำคัญต่อการสร้างผนังเซลล์ของร่างกาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Omega-3 ที่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นมาเองได้จึงต้องได้รับจากสารอาหารเท่านั้น เช่น ปลาทูน่า หอยนางรม

เมล็ดแฟลกซ์ เมล็ดเจีย ถั่วเหลือง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอย่าง DHA ฯลฯ โดยการรับประทานอาหารที่มี DHA อย่างเพียงพอ คือ 200-500 มิลลิกรัมต่อวัน จะช่วยบำรุงครรภ์ให้พัฒนาการสมอง สายตา และเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกายของทารกให้แข็งแรง น้ำหนักของทารกเป็นไปตามเกณฑ์ ป้องกันภาวะคลอดก่อนกำหนด รวมถึงช่วยลดภาวะเครียดหรือซึมเศร้าของคุณแม่ในระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอดได้






[ ปิดหน้าต่างนี้ ]